พ่อแม่อย่าชะล่าใจปล่อยลูกฟันผุ อาจเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต
ฟันผุเป็นปัญหายอดฮิตที่สามารถพบเจอได้ในเด็กแทบทุกคน จากการสำรวจพบว่าเด็กที่มีอายุ 3 ปี จะมีฟันผุเฉลี่ย 3 ซี่ต่อคน โดยสาเหตุหลักๆ ก็มาจากพฤติกรรมการกินของเด็กเอง บวกกับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วย เช่น การกินขนมหวานเป็นประจำ หรือพ่อแม่ละเลยการดูแลช่องปากตอนที่ฟันเริ่มขึ้น จึงทำให้ลูกฟันผุโดยไม่รู้ตัว ซึ่งปัญหาฟันผุในเด็กก็ไม่ใช่แค่ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงสุขภาพร่างกายโดยรวม การเจริญเติบโต รวมไปถึงสภาพจิตใจในระยะยาวด้วย
ฟันผุในเด็ก เกิดจากอะไร ?
คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่าทำไมลูกเราถึงมีฟันผุเร็วตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาฟันผุนั้นเกิดได้ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้น นั่นเพราะการกินอาหารและการดูแลความสะอาดในช่องปากที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรีย ซึ่งเจ้าแบคทีเรียที่ว่าก็จะไปรวมกับน้ำลายและเศษอาหารในช่องปาก กลายเป็นคราบเหนียวๆ เกาะติดอยู่ตามผิวฟัน แถมแบคทีเรียยังสามารถเปลี่ยนแป้งและน้ำตาลให้กลายเป็นกรดที่มีฤทธิ์ทำลายผิวฟันได้ ทำให้เกิดรูฟันผุเล็กๆ ขึ้น ยิ่งถ้าไม่มีการแปรงฟันกำจัดคราบอย่างเหมาะสม ขนาดรูฟันผุก็จะใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ ชั้นเคลือบฟันน้ำนมยังมีความบางกว่าฟันแท้ ทำให้ปัญหาฟันน้ำนมผุนั้นลุกลามง่ายและเร็วกว่ามากด้วย
โดยปัจจัยที่เพิ่มโอกาสการเกิดฟันผุในเด็กที่คุณแม่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
- การให้เด็กกินขนมหวาน หรือนมที่มีรสหวานบ่อยเกินไป
- การให้เด็กหลับไปพร้อมกับขวดนม ทำให้น้ำตาลที่อยู่ในนมทำลายเคลือบฟันขณะหลับ
- การละเลยความสะอาดในช่องปาก ไม่ได้แปรงฟันตั้งแต่ฟันซี่แรกเริ่มขึ้น
- การไม่ได้พาลูกน้อยเข้าพบกับทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและเริ่มฝึกการแปรงฟันที่ถูกวิธี
สังเกตอย่างไรว่าลูกฟันผุ ?
การเกิดฟันผุมีอยู่ 3 ระยะ ซึ่งจะมีอาการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเห็นได้ ดังนี้
1. ฟันผุระยะแรก: จะมีรอยสีขาวขุ่นบริเวณหลุมร่องฟัน คอฟัน เคลือบฟัน หรือมีจุดสีดำหรือน้ำตาลเล็กๆ ปรากฏขึ้นบนเคลือบฟัน ซึ่งอาจยังไม่มีอาการปวดระคายเคืองฟัน
2. ฟันผุระยะที่ 2: จุดสีดำบนฟันจะมีขนาดกว้างขึ้น หรือเห็นเป็นคราบสีน้ำตาล ซึ่งแสดงว่าฟันผุไปถึงชั้นเนื้อฟันและเกิดรูบนตัวฟันแล้ว ในระยะนี้เด็กๆ จะเริ่มมีอาการปวดฟันหรือเสียวฟัน โดยเฉพาะเมื่อมีเศษอาหารเข้าไปติด
3. ฟันผุระยะที่ 3: เป็นระยะที่การผุลุกลามจนทะลุโพรงประสาทฟัน ทำให้มีอาการปวดฟัน ฟันอักเสบ มีการอักเสบของเหงือกและอวัยวะรอบๆ ฟัน บางครั้งอาจสังเกตเห็นหนองที่เหงือกได้
ทั้งนี้ เลยแนะนำว่าผู้ปกครองควรคอยสังเกตและเช็กสภาพฟันของลูกเป็นประจำ ถ้ามีสัญญาณที่บ่งบอกว่าอาจเกิดฟันผุ จะได้รีบไปพบทันตแพทย์ได้ทันเวลาค่ะ
ผลกระทบที่ตามมา หากปล่อยให้ลูกฟันผุ
แน่นอนว่าปัญหาฟันผุในเด็กย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในช่องปากและสุขภาพร่างกายเรื้อรังตามมามากมาย ตัวอย่างเช่น
- ทำให้เกิดอาการปวดฟันจนเด็กไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ
- เมื่ออาการปวดฟันรุนแรง เด็กๆ อาจทานอาหารได้น้อยลง ทำให้ขาดสารอาหารและเจริญเติบโตช้าได้ รวมถึงอาการปวดอาจส่งผลให้เด็กนอนไม่หลับ ซึ่งกระทบต่อการหลั่งโกรทฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้วย
- การติดเชื้อจากฟันผุอาจลุกลามไปถึงอวัยวะอื่นๆ เช่น เหงือก ขากรรไกร ต่อมน้ำเหลือง และดวงตา ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและกลายเป็นอันตรายร้ายแรงได้
- การมีฟันน้ำนมผุ ฟันล้ม หรือต้องถอนฟันออกไป อาจทำให้ฟันแท้ที่ขึ้นมาใหม่มีปัญหา เช่น ฟันขึ้นช้า ฟันซ้อน ฟันเก หรือฟันเรียงตัวไม่สวยอย่างที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ ปัญหาฟันผุก็ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่ยังอาจกระทบต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ของเด็กได้มากกว่าที่คุณพ่อคุณแม่คิด เช่น
- การมีฟันผุ ฟันดำคล้ำ หรือฟันหลอ มักทำให้เด็กๆ เสียความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าพูดหรือยิ้ม เพราะกลัวจะถูกล้อเลียน
- อาการปวดฟัน เสียวฟัน อาจทำให้ลูกน้อยหงุดหงิดงอแง ไม่มีความสุขในการรับประทานอาหาร และเสียสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้
การป้องกันฟันผุในเด็ก
แม้ฟันผุจะเป็นปัญหาที่เจอบ่อยมากในเด็ก แต่ก็เป็นเรื่องที่พ่อแม่สามารถป้องกันได้ ด้วยวิธีต่างๆ ต่อไปนี้
- ฝึกให้ลูกเข้านอนโดยไม่มีนิสัยติดขวดนม รวมถึงควรเลิกใช้ขวดนมเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไปแล้ว
- ฝึกไม่ให้ลูกติดของหวาน หรือทานขนมจุบจิบระหว่างมื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดฟันผุ
- ให้ลูกบ้วนปากหลังทานอาหาร ดื่มนม และทานขนมทุกครั้ง
- แปรงฟันให้ลูกตั้งแต่ฟันเริ่มขึ้น โดยใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ แปรงวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนเข้านอน เมื่อลูกอายุ 4 ปี จึงฝึกให้แปรงฟันด้วยตัวเองอย่างถูกวิธี
- พาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุกๆ 6 เดือน
การรักษาฟันน้ำนมผุ
แนวทางการรักษาฟันผุอาจแตกต่างกันไปตามอาการและระยะของฟันผุ หากเป็นระยะเริ่มแรก คุณหมออาจรักษาด้วยการเคลือบหลุมร่องฟัน ร่วมกับแนะนำการทำความสะอาดฟันและการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม หากฟันผุไปถึงชั้นเนื้อฟันแล้ว ก็อาจต้องทำการอุดฟันน้ำนมหรือครอบฟัน เพื่อป้องกันการผุลุกลามและเพื่อให้ฟันซี่นั้นกลับมาใช้งานได้ปกติ แต่หากฟันผุทะลุไปถึงโพรงประสาทฟัน ก็อาจจำเป็นต้องรักษารากฟันหรือถอนฟันออก ซึ่งทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นคนประเมินอาการและวางแผนการรักษาสำหรับเด็กๆ อย่างเหมาะสม
หากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาลูกฟันผุ สามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะนำได้ที่ Thonglor Dental Hospital (TDH) คลินิกทันตกรรมที่ได้รับมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ซึ่งในวันนี้ได้มีการเปิดศูนย์ทันตกรรมเด็กอย่าง TDH Kids ที่เน้นการดูแลสุขภาพฟันสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี โดยการรักษาจะอยู่ภายใต้การดูแลของทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็กที่มากประสบการณ์ มีความรู้ความเข้าใจด้านระบบฟันของเด็กเป็นอย่างดี อีกทั้งมีความรู้ด้านจิตวิทยาเด็ก ซึ่งจะช่วยลดความกลัวของเด็กๆ ลงได้ ช่วยให้ลูกๆ ของเรามีประสบการณ์การพบหมอฟันที่ดี และหมดความกังวลในการนัดพบคุณหมอเพื่อตรวจหรือรักษาในครั้งต่อไป