เมื่อฟันน้ำนมซี่แรกกำลังจะขึ้น ลูกน้อยมักมีอาการคันเหงือก หรือเจ็บเหงือก ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เจอได้ในเด็กทารกทุกคน แต่พ่อแม่หลายคนอาจกังวลและรับมือไม่ถูก เนื่องจากหนูน้อยมักร้องไห้งอแงตลอดเวลา นอนไม่ได้ หรือเอาอะไรต่อมิอะไรเข้าปากเพื่อกัดอยู่ตลอด จนพ่อแม่ห่วงว่าลูกน้อยของเราจะโอเคไหม… วันนี้ทาง TDH Dental เลยจะมาแบ่งปันเทคนิคการรับมือเมื่อลูกคันเหงือกเพราะฟันซี่แรกขึ้น ให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้นำไปปรับใช้กัน
ลูกน้อยเริ่มมีฟันขึ้นเมื่อไหร่
โดยปกติลูกน้อยของเราจะเริ่มมีฟันซี่แรกขึ้นเมื่ออายุ 6 เดือน ซึ่งอาจเร็วหรือช้ากว่านั้น แต่โดยส่วนใหญ่จะไม่เกิน 12 เดือน และฟันน้ำนมจะทยอยขึ้นจนครบเมื่ออายุราวๆ 3 ปี อย่างไรก็ตาม หากอายุครบ 12 เดือนแล้วลูกยังไม่มีฟันขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ
อาการคันเหงือกขณะฟันเริ่มขึ้น
ขณะฟันกำลังขึ้น ขอบฟันจะค่อยๆ ดันเหงือกขึ้นมา ทำให้เด็กรู้สึกเจ็บ คันเหงือก เหงือกบวมแดง หรือระคายเคืองในปาก ซึ่งเป็นความรู้สึกใหม่ที่ทารกไม่คุ้นเคยมาก่อน หนูน้อยหลายคนจึงออกอาการหงุดหงิดงอแงให้เห็น โดยเฉพาะเมื่อฟันกรามขึ้น เด็กๆ อาจรู้สึกเจ็บเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นฟันซี่ใหญ่ที่สุด โดยพ่อแม่อาจลองเช็คดูได้ ด้วยการสังเกตว่าเหงือกของลูกมีสีซีดๆ และเมื่อจับดูจะรู้สึกว่ามีตุ่มแข็งๆ ดันขึ้นมา นั่นก็เป็นสัญญาณว่าฟันน้ำนมของลูกกำลังจะขึ้นแล้ว นอกจากนี้ ก็ยังมีสัญญาณหรืออาการอื่นๆ ที่เราสามารถสังเกตได้อีก ได้แก่
- ลูกงอแง หงุดหงิด หรือร้องไห้มากกว่าปกติ
- ลูกมีน้ำลายไหลออกมาเยอะตลอดเวลา
- ลูกอยากกัดทุกอย่างที่พบเห็น และชอบเอาสิ่งของใกล้มือเข้าปาก หรือบางครั้งก็กัดนิ้วตัวเอง
- ลูกจะอยากดูดนมแม่หรือดูดขวดนมมากกว่าปกติ หรืออาจเป็นในทางตรงกันข้าม คือไม่อยากดูดนมเลย เพราะรู้สึกเจ็บเหงือก
- ลูกอาจเบื่ออาหาร หรือนอนไม่หลับ
- เด็กบางคนอาจตัวร้อน และมีไข้ต่ำๆ ไม่เกิน 38 องศาได้
วิธีแก้อาการคันเหงือก คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร
- พ่อแม่สามารถนวดเหงือกให้ลูกได้ โดยใช้นิ้วมือตัวเอง หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นจัดมานวดเบาๆ ที่เหงือก เพราะความเย็นจะช่วยให้รู้สึกชา และช่วยลดความบวมของเหงือกได้
- หากลูกรู้สึกมันเขี้ยว พ่อแม่อาจหายางกัดหรือของเล่นสำหรับเคี้ยวที่ปลอดสาร BPA มาให้ลูกกัดเล่น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอาการคันเหงือกแล้ว การเคี้ยวยังช่วยให้เนื้อเยื่อเหงือกแยกตัว และทำให้ฟันโผล่ขึ้นมาได้ง่ายขึ้นด้วย
- การนำของเล่น ยางกัด หรือจุกหลอก ไปแช่เย็นก่อนนำมาให้ลูกกัด ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดอาการเหงือกบวมแดงได้เช่นกัน แต่ต้องระวังอย่าแช่ให้เย็นจัดเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กปวดเหงือกยิ่งกว่าเดิมได้
- ในช่วงนี้ลูกจะมีน้ำลายไหลออกมามาก พ่อแม่จึงควรหมั่นใช้ผ้าเช็ดและทำความสะอาดให้ลูกบ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเกิดผดผื่นขึ้นที่ใบหน้า
- หากลูกรู้สึกเจ็บเหงือกมาก อาจใช้เจลหรือผงทาเหงือกถูเบาๆ เพื่อบรรเทาอาการได้
- หากลูกน้อยปวดเหงือกรุนแรง มีเหงือกบวมแดงอักเสบ และมีไข้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบคุณหมอ ซึ่งคุณหมออาจจ่ายยาแก้ปวดสำหรับเด็กมาช่วยลดอาการด้วย
วิธีช่วยลูกน้อยเมื่อฟันเริ่มขึ้น
นอกเหนือจากวิธีการรับมือที่ว่ามาแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ฟันทารกขึ้นได้อย่างราบรื่น ได้แก่
- ให้ลูกดื่มน้ำมากๆ เพื่อชดเชยน้ำลายที่สูญเสียไปในขณะฟันกำลังขึ้น
- ทำความสะอาดช่องปากลูกโดยใช้ก๊อซหรือผ้าอ้อมชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดบริเวณเหงือก ลิ้น และกระพุ้งแก้ม วันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เหงือกอักเสบ และเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีในระยะยาว
- เมื่อฟันซี่แรกของลูกโผล่พ้นเหงือกแล้ว พ่อแม่ควรรีบพาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็คสุขภาพฟันเบื้องต้น และรับคำแนะนำในการดูแลช่องปากอย่างถูกวิธี
ใครที่สนใจอยากปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับฟันและช่องปาก สามารถทำนัดพบคุณหมอที่ TDH Dental มาพูดคุยปรึกษาปัญหาสุขภาพช่องปากกับทันตแพทย์โดยตรง เพียงเท่านี้การดูแลช่องปากและฟันก็กลายเป็นเรื่องง่ายและไม่ยุ่งยากอีกต่อไปแล้ว