พ่อแม่หลายคนอาจสงสัยว่าการดูแลสุขภาพฟันให้ลูกน้อยควรเริ่มตั้งแต่ตอนไหน ต้องรอให้ฟันขึ้นครบทั้งปากก่อนไหม หรือรอให้ฟันแท้ขึ้นก่อนหรือเปล่า… แต่จริงๆ แล้ว การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันเด็กที่ดีที่สุด ต้องเริ่มทำตั้งแต่แรกเกิด หรือก่อนที่ฟันซี่แรกจะขึ้นซะอีก และพอฟันน้ำนมเริ่มขึ้นแล้ว ก็ยิ่งต้องดูแลมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะฟันน้ำนมที่แข็งแรงจะเป็นพื้นฐานของสุขภาพฟันที่ดีในอนาคตนั่นเอง
แต่แน่นอนว่าการดูแลฟันในเด็กเล็กนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเด็กๆ บางคนอาจไม่ให้ความร่วมมือกับพ่อแม่อย่างเราสักเท่าไหร่ ในบทความนี้มาดูกันว่า เราจะมีวิธีดูแลฟันให้ลูกน้อยแต่ละช่วงวัยยังไง เพื่อให้เด็กๆ มีฟันแข็งแรงสุขภาพดี และไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพช่องปากในอนาคต
ฟันน้ำนมสำคัญอย่างไร? ทำไมต้องดูแลตั้งแต่ซี่แรก
หลายคนอาจคิดว่าฟันน้ำนมเป็นฟันชั่วคราวที่เดี๋ยวเดียวก็หลุดออกแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องดูแลอะไรมาก แต่ในความจริงแล้ว ฟันน้ำนมมีความสำคัญมากกับเด็กๆ เพราะฟันน้ำนมที่แข็งแรงจะช่วยให้พวกเขาบดเคี้ยวอาหารได้ดี ออกเสียงพูดได้ชัดเจน และยังช่วยให้ฟันแท้ขึ้นมาในตำแหน่งที่ถูกต้องด้วย ในทางกลับกัน หากเด็กมีฟันน้ำนมผุเยอะ ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาปวดฟัน เคี้ยวอาหารลำบาก ทำให้เด็กกินได้น้อย ขาดสารอาหาร พูดไม่ชัด และหากฟันน้ำนมหลุดเร็วก่อนกำหนด ฟันแท้ที่ขึ้นมาภายหลังก็มีโอกาสซ้อนเกหรือเกิดฟันล้มได้สูงมาก
วิธีการดูแลช่องปากและฟันเด็กแต่ละวัย
วัยแรกเกิด
ในวัยแรกเกิดที่ฟันยังไม่ขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลช่องปากให้ลูกน้อยได้ ด้วยการใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดบริเวณสันเหงือกและลิ้น โดยไม่ควรปล่อยให้ลิ้นลูกเป็นฝ้าขาว เพราะจะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อจุลินทรีย์ได้
ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น – 3 ปี
ฟันน้ำนมซี่แรกจะเริ่มขึ้นตอนอายุประมาณ 6 เดือน ซึ่งในวัยนี้คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกเลิกดื่มนมมื้อดึก และควรแปรงฟันให้ลูกเช้า-เย็น โดยเลือกแปรงสีฟันที่มีหน้าตัดขนแปรงอ่อนนุ่ม ใส่ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์แค่พอเปียกบนขนแปรง แล้วแปรงฟันให้ครบทุกซี่ จากนั้นจึงใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดฟองออก สำหรับท่าการแปรงฟันในเด็ก ควรให้เด็กนอนหงายบนตักของพ่อแม่ แล้วใช้โคมไฟช่วยส่องขณะแปรงฟันในปาก
วัย 3 – 6 ปี
ในการแปรงฟัน ให้เลือกแปรงสีฟันขนแปรงอ่อนนุ่ม ขนาด 4 x 7-8 แถว แล้วใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์บีบในปริมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว หากเด็กสามารถจับแปรงเองได้แล้ว อาจให้เด็กแปรงฟันด้วยตัวเองก่อน จากนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงช่วยแปรงฟันซ้ำอีกรอบหนึ่ง หลังแปรงฟันเสร็จให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเช็ดฟองออก
วัย 6 ปีขึ้นไป
เด็กอายุ 6 – 12 ปี จะสามารถแปรงฟันด้วยตัวเองได้แล้ว โดยให้เลือกแปรงที่ขนาดพอดีกับช่องปาก กับยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ บีบให้เท่าความยาวหน้าตัดแปรง หลังแปรงฟันเสร็จให้บ้วนฟองออกและบ้วนน้ำตามน้อยๆ โดยผู้ปกครองควรตรวจซ้ำอีกครั้งว่าลูกๆ แปรงฟันได้สะอาดหรือไม่
การใช้ฟลูออไรด์ในเด็ก จำเป็นแค่ไหน ?
ฟลูออไรด์เป็นสารที่ช่วยป้องกันฟันผุ ทันตแพทย์จึงแนะนำให้ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เพื่อทำความสะอาดช่องปากเป็นประจำ ตั้งแต่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้น ทั้งนี้ ในเด็กที่มีแนวโน้มจะเกิดฟันผุ ทันตแพทย์อาจให้ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์หรือฟลูออไรด์ชนิดเม็ดเพิ่มเติม ซึ่งการใช้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของทันตแพทย์
ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ตอนอายุเท่าไหร่ ?
คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยมาพบหมอฟันตั้งแต่อายุ 6 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้น เพื่อมาตรวจสุขภาพฟันและรับคำแนะนำในการดูแลช่องปากอย่างถูกวิธี เช่น การแปรงฟันให้สะอาดทั่วถึง หรือการปรับพฤติกรรมและอาหารการกินเพื่อหลีกเลี่ยงฟันผุในเด็ก นอกจากถ้าคุณพ่อคุณแม่ท่านใดกลัวว่าลูกจะงอแงไม่ยอมไปหาหมอฟัน ทาง TDH Kids มีเทคนิคแนะนำก่อนพาลูกน้อยไปทำฟัน แต่ละเทคนิคเป็นวิธีที่จะช่วยให้เด็ก ๆ คลายความกังวลตอนไปทำฟันหรือหาหมอฟันได้
TDH Kids ศูนย์ทันตกรรมสำหรับเด็กที่พ่อแม่ไว้ใจ
การพาลูกมาหาหมอฟันเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่มักกังวลใจ เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนจะให้ความร่วมมือมาพบทันตแพทย์แต่โดยดี การมีศูนย์ทันตกรรมเด็กที่ไว้วางใจได้ทั้งในเรื่องคุณภาพการดูแล ความเชี่ยวชาญของคุณหมอ รวมถึงการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการตรวจฟันให้กับลูกๆ จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายคนมองหา
ซึ่ง TDH Kids ก็เป็นคลินิกทำฟันที่ตอบสนองความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ได้ครบทุกด้าน เพราะเราเป็นศูนย์ทันตกรรมเด็กที่รวมทันตแพทย์เด็กเฉพาะทางไว้ครบทุกสาขา โดยคุณหมอทุกท่านมีประสบการณ์และความเข้าใจในจิตวิทยาเด็กเป็นอย่างดี จึงสามารถรับมือกับคนไข้วัยเด็กเล็กได้ โดยที่เด็กๆ รู้สึกผ่อนคลายกว่าการไปพบคุณหมอตามคลินิกปกติ นอกจากนี้ สถานที่ภายในคลินิก TDH Kids ยังจัดให้เหมาะกับเด็กโดยเฉพาะ เช่น มีโซนเครื่องเล่นและโซนอ่านหนังสือ ให้เด็กๆ ได้เพลิดเพลินสนุกสนานระหว่างรอ มีห้องทันตกรรมที่ตกแต่งได้น่ารักสดใสในสไตล์ Fun & Colorful จึงวางใจได้ว่าลูกๆ จะได้รับประสบการณ์ดีๆ กลับไป และไม่กลัวเมื่อต้องกลับมาพบหมอฟันใหม่อีกครั้ง