แก้ไขปัญหาลูกฟันผุจากขวดนม สำหรับพ่อแม่ที่ลูกติดขวดนม

เคล็ดลับ แก้ไขปัญหาลูกฟันผุจากขวดนม

ปัญหาฟันผุในเด็กสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งฟันผุจากขวดนมก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยสาเหตุนี้มักพบบ่อยในเด็กเล็กวัยปฐมวัยที่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้นและยังไม่หย่านม แล้วก็อาจส่งผลไปถึงสุขภาพช่องปากในตอนโตได้ด้วย เช่น ทำให้เด็กสูญเสียฟันน้ำนมเร็ว และฟันแท้ขึ้นมาซ้อนเก ผิดตำแหน่ง ปัญหาลูกฟันผุจากขวดนมจึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองอย่างเราไม่ควรมองข้าม และต้องรีบหาทางรับมือก่อนที่จะสายเกินไป

ฟันผุจากขวดนม คืออะไร ?

ฟันผุจากขวดนม (Baby bottle tooth decay) เป็นอาการฟันผุที่เกิดจากน้ำตาลในนมติดค้างอยู่ในช่องปากและตามซอกฟัน เมื่อปล่อยทิ้งไว้ จุลินทรีย์ในปากก็จะย่อยน้ำตาลให้เกิดกรด ซึ่งกรดตัวนี้จะไปทำลายแคลเซียมในฟันและเคลือบฟัน ทำให้เกิดฟันผุได้ในที่สุด โดยสัญญาณเริ่มแรกที่สังเกตได้คือจะมีจุดสีขาวขึ้นบนเหงือก มีจุดสีดำหรือน้ำตาลขึ้นบนฟัน และอาจตามมาด้วยกลิ่นปากหรืออาการเหงือกบวมด้วย

โรคฟันผุจากขวดนม มักพบในเด็กเล็กที่อายุ 1 - 2 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นหลายซี่ (ประมาณ 10 - 18 ซี่) ทำให้ทำความสะอาดได้ยากขึ้น รวมถึงเด็กในวัยนี้มักจะยังไม่เลิกกินนมในตอนกลางคืน หากพ่อแม่ปล่อยให้ลูกติดขวดนมและหลับไปพร้อมกับขวดนมบ่อยๆ ก็มีโอกาสสูงที่ลูกจะเกิดฟันผุจากขวดนมได้

สาเหตุที่ทำให้ลูกฟันผุจากขวดนม

พฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้ลูกมีปัญหาฟันผุจากขวดนม ได้แก่

  • การปล่อยให้เด็กเผลอหลับพร้อมกับขวดนม เพราะจะทำให้น้ำนมค้างอยู่ในช่องปากเป็นเวลานาน เมื่อฟันถูกแช่อยู่ในน้ำนมก็จะเกิดการผุพร้อมกันได้หลายซี่
  • การให้ลูกดูดนมจากเต้าแม่เป็นเวลานานๆ หรือปล่อยให้ลูกหลับไปพร้อมกอดเต้า เพราะนั่นจะให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากการหลับไปพร้อมขวดนม
  • การให้ลูกน้อยเดินไปพร้อมๆ กับดูดนมจากขวด เนื่องจากเป็นการส่งเสริมให้เด็กยิ่งติดขวดนม ต้องดูดขวดอยู่ตลอดเวลา นานวันไปจะยิ่งเลิกขวดนมได้ยาก และอาจทำให้มีคราบนมสะสมอยู่ในช่องปากตลอดทั้งวันด้วย
แก้ไขปัญหาลูกฟันผุจากขวดนม สำหรับพ่อแม่ที่ลูกติดขวดนม

วิธีป้องกันฟันผุจากขวดนมในเด็กเล็ก

  1. ดูแลสุขภาพช่องปากลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด โดยการใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซชุบน้ำมาเช็ดเหงือกและลิ้นของลูก ต่อเมื่อลูกเริ่มมีฟันซี่แรกขึ้น พ่อแม่จึงเริ่มแปรงฟันให้ลูกด้วยแปรงสีฟันสำหรับเด็ก และยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์
  2. สร้างนิสัยให้ลูกเข้านอนโดยไม่มีขวดนม โดยควรให้ลูกดูดนมให้อิ่มและทำความสะอาดช่องปากให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน หากลูกตื่นมาหิวกลางดึก คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้ลูกกินนมได้ แต่ควรให้ดูดน้ำตามเพื่อล้างคราบนมในปาก และอย่าให้ลูกหลับไปพร้อมกับขวดนมเด็ดขาด
  3. หลีกเลี่ยงการเติมน้ำหวานอื่นๆ ลงในขวดนม เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม หรือน้ำผสมน้ำตาล เพราะจะทำให้เด็กติดรสชาติหวานจากการดูดขวดนม ในขวดนมควรใส่เฉพาะนมชง นมแม่ หรือน้ำเปล่าเท่านั้น
  4. หลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป โดยควรเริ่มฝึกให้ลูกดื่มนมและน้ำจากแก้วตั้งแต่อายุ 6 - 12 เดือน และหลังจาก 2 ปีไปแล้ว ควรเลิกขวดนมให้เด็ดขาด เนื่องจากเด็กที่ยังดูดขวดนมจนถึง 18 เดือน มีแนวโน้มจะติดขวดนมจนเลิกได้ยาก และมีโอกาสจะเกิดฟันผุจากขวดนมได้สูง โดยในกรณีที่เลิกขวดนมยากมาก พ่อแม่อาจใช้วิธีเติมน้ำเปล่าลงในนมเพื่อเจือจางนมไปเรื่อยๆ จนเหลือแต่น้ำเปล่าในขวดนม
  5. ตรวจสอบว่าลูกน้อยได้รับฟลูออไรด์เพียงพอ โดยการพาลูกไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน ตั้งแต่ที่เด็กเริ่มมีฟันซี่แรก เพื่อให้คุณหมอตรวจดูสุขภาพฟัน แนะนำการดูแลช่องปากที่ถูกวิธี และเคลือบฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ รวมถึงลดความเสื่อมสภาพของฟันในกรณีที่มีฟันผุแล้วด้วย

คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหาผู้ช่วยดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลฟันผุ สามารถพาลูกมาพบคุณหมอได้ที่ TDH Kids ศูนย์ทันตกรรมสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ซึ่งมีทันตแพทย์เด็กเฉพาะทางพร้อมให้บริการด้านทันตกรรมและการทำฟันเด็กทุกรูปแบบ รวมถึงมีบรรยากาศของคลินิกและห้องทำฟันที่ถูกออกแบบมาเพื่อเด็กๆ โดยเฉพาะ สนใจสอบถามได้ที่ TDH Kids สาขาปุณณวิถี หรือโทร 089-744-7114 / 02-744-7114

Related posts

เว็บไซต์นี้ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ (Cookies) เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่คุณในการเข้าใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คุกกี้ได้ที่
ยอมรับ
ปฏิเสธ
Privacy Policy